เมนู

ข้อว่า น มรณาธิปฺปายสฺส ได้แก่ ไม่ปรารถนาจะให้ตาย. จริงอยู่
ผู้อื่นจะตายด้วยความพยายามใด, ครั้นเมื่อผู้นั้น แม้ถูกฆ่าตายด้วยความพยายาม
นั้น ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่ประสงค์จะให้ตาย ดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
ไว้ว่า ดูก่อนภิกษุ ไม่เป็นอาบัติแก่เธอผู้ไม่ประสงค์จะให้ตาย. ภิกษุ
บ้าเป็นต้น มีนัยดังกล่าวแล้วในก่อนนั่นแล. ก็แลภิกษุทั้งหลายผู้ฆ่ากันและกัน
เป็นต้นบัญญัติในสิกขาบทนี้ ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุเหล่านั้น. แต่คงเป็นอาบัติ
แก่ภิกษุทั้งหลายที่เหลือ มีภิกษุผู้พรรณนาคุณความตายเป็นต้นแล.
ปทภาชนียวรรณนา จบ

[ตติยปาราชิกสิกขาบท มีสมุฏฐาน 3]


ในสมุฏฐานเป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้:- สิกขาบทนี้ มีสมุฎฐาน 3
คือ เกิดแต่กายกับจิต 1 เกิดแต่วาจากับจิต 1 เกิดแต่กายวาจากับจิต 1,
เป็นกิริยา เป็นสัญญาวิโมกข์ เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ เป็นกายกรรม
วจีกรรม เป็นอกุศลจิต เป็นทุกขเวทนา. จริงอยู่ ถ้าแม้นพระราชาเสด็จขึ้น
สู่พระที่บรรทมอันทรงสิริ เสวยสุขในราชสมบัติอยู่ เมื่อราชบุรุษกราบทูลว่า
ข้าแต่สมมติเทพ ! โจรถูกนำมาแล้ว ตรัสทั้งที่ทรงรื่นเริงแลว่า จงไปฆ่ามัน
เสียเถิด พระราชานั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ตรัสด้วยพระหฤทัยอิงโทมนัส
นั่นแล. แต่พระหฤทัยที่อิงโทมนัสนั้น อันปุถุชนทั้งหลายรู้ได้ยาก เพราะ
เจือด้วยความสุข และเพราะไม่ติดต่อกัน (ในวิถีแห่งโทมนัส) ด้วยประการ
ฉะนั้นแล.

วินีตวัตถุในตติยปาราชิก


[เรื่องพรรณนาคุณความตาย]


ในเรื่องแรก (ซึ่งมีอยู่) ในคาถาแห่งวินีตวัตถุทั้งหลาย มีวินิจฉัย
ดังต่อไปนี้:-
บทว่า การุญฺเญน ความว่า ภิกษุเหล่านั้น เห็นความทุกข์เพราะ
ความเป็นไข้อย่างมากของเธอแล้ว เกิดความกรุณาขึ้น ทั้งเป็นผู้มีความต้องการ
จะให้ตายด้วย แต่ไม่ทราบว่าเธอมีความต้องการจะตาย จึงได้พรรณนาคุณ
ความตายอย่างนี้ว่า ท่านเป็นผู้มีศีล ได้ทำกุศลไว้แล้ว เพราะเหตุไร เมื่อจะ
ตายจึงกลัวเล่า ? ขึ้นชื่อว่า สวรรค์ของผู้มีศีล เป็นของเนื่องด้วยเหตุเพียง
ความตายเท่านั้น มิใช่หรือ ? ภิกษุแม้นั้นก็ตัดอาหาร เพราะการพรรณนา
(คุณความตาย) ของภิกษุเหล่านั้น แล้วก็มรณภาพไปในระหว่างนั้นเอง
เพราะเหตุนั้น ภิกษุเหล่านั้น จึงต้องอาบัติ. แต่ท่านพระอุบาลีเถระกล่าวไว้
ด้วยอำนาจโวหารว่า ภิกษุเหล่านั้น ได้พรรณนาคุณความตายด้วยความกรุณา,
เพราะฉะนั้นถึงในบัดนี้ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต ก็ไม่ควรพรรณนาคุณความตาย
อย่างนั้น แก่ภิกษุผู้อาพาธ. จริงอยู่ ถ้าภิกษุผู้อาพาธนั้นได้ฟังการพรรณนา
ของภิกษุนั้นแล้ว มรณภาพลงในระหว่าง ในเมื่ออายุแม้ยังเหลืออยู่ชั่วชวน-
วาระเดียว ด้วยความพยายามมีการอดอาหารเป็นต้น ไซร้, เธอเป็นผู้ชื่อว่าอัน
ภิกษุนี้แลฆ่าแล้ว. แต่ควรให้คำพร่ำสอนโดยนัยนี้ว่า ความเกิดขึ้นแห่งมรรค
และผลของท่านผู้มีศีล เป็นของไม่น่าอัศจรรย์เลย; เพราะฉะนั้น ท่านไม่ควร
ทำความเกี่ยวข้องในสถานที่มีวิหารเป็นต้น ควรตั้งสติให้ไปในพระพุทธเจ้า
พระธรรม พระสงฆ์ และในกาย ทำความไม่ประมาทในมนสิการ. และแม้